"รมว.ทวี" หารือ คณะทูตฝรั่งเศส ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
"ทวี สอดส่อง" ต้อนรับ คณะเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส พร้อมความร่วมมือกระบวนการยุติธรรม ชื่นชมความมุ่งมั่น ยกระดับหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน หลังเข้าร่วมภาคีอุ้มหาย ร่วมหารือ "สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน - ตั้งองค์กรวิชาชีพโนตารี
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พร้อมคณะทูตฝ่ายกฎหมาย เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีพันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, และนางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องรับรอง ชั้น 11 อาคารกระทรวงยุติธรรม
นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ กล่าวชื่นชม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ที่แสดงออกอย่างมุ่งมั่นกับการพัฒนาระบบกฎหมาย จนทำให้เข้าใจถึงประเด็นความท้าทายของกระทรวงยุติธรรม ให้คณะเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 19 ประเทศได้รับทราบและสามาถมองเห็นอย่างชัดเจน ระหว่างการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ในภูมิภาคเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา อาทิ การแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 2565 หรือ “พ.ร.บ.อุ้มหายฯ“ ที่มีการบังคับใช้มาแล้ว 2 ปี กระทั่ง ประเทศไทยได้ประกาศการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับ ให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance : ICPPED), ขององค์การสหประชาชาติ
ด้านพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวขอบคุณในความยินดีของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส พร้อมระบุว่า นับเป็นเรื่องยากกับการผลักดันเรื่องดังกล่าว เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีวัฒนธรรมเรื่องร้ายๆ มานาน แต่การมี พ.ร.บ.อุ้มหาย จนได้เข้าเป็นภาคี ด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะจากประชาชนและนานาชาติ จนเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้รับคำขอบคุณจากเหยื่ออุ้มหายในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งถูกอุ้มหายไปตั้งแต่ในยุคการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทั่งมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
ตนยังมีเรื่องท้าทายด้วยหลักกฎหมายของไทย ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีต้นแบบมาจากประเทศเยอรมัน อังกฤษ และญี่ปุ่น ผ่านมาบังคับใช้มาแล้วนับ 100 ปี ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปแล้วทั้งสิ้น แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีการแก้ไข จนเกิดเสียงเรียกร้องของประชาชน โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้ง จนได้รับการจัดตั้งรัฐบาล ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ซึ่งมีนโยบายดังกล่าวอยู่แล้ว จึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา เสวนาครั้งใหญ่เพื่อการปรับปรุง ประมวลกฎหมายแพ่งฯให้แล้วเสร็จทันวาระครบรอบ 100 ปี ในปีหน้า จึงขอความร่วมมือประเทศฝรั่งเศส และในอีกหลายๆ เรื่องซึ่งที่จะมีการแก้ไขที่ชัดเจน คือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม"
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวขอบคุณฝรั่งเศสที่ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นจนทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวสำเร็จด้วยดี พร้อมอธิบายเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในประเด็นข้อห่วงใยที่จะส่งผลต่อพลเมืองฝรั่งเศสที่เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนในการสร้างความเข้าใจที่แท้จริง ก่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในโอกาสนี้ คณะเอกอัรราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ยังได้หารือราชการอีก 2 ประเด็น คือ 1. การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพโนตารีในประเทศไทยตามรูปแบบของฝรั่งเศส ซึ่งมีการกำกับควบคุมในรูปแบบที่คล้ายคลึงสภาวิชาชีพต่างๆ ในประเทศไทย ด้วยเห็นว่าจะเป็นผลดีในแง่ความเชื่อมั่น ในการโอนกรรมสิทธิ์ประเภทอสังหาริมทรัพย์, การส่งต่อ, การรับมอบมรดก เสมือนเป็นคนกลางระหว่างประชาชน กับหน่วยงานรัฐ เช่น กรมที่ดิน หรือกรมศุลกากร ในการทำหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมส่งต่อให้หน่วยงานรัฐ
2.การทำสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย - ฝรั่งเศส แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกันมาอย่างยาวนาน เกิดความร่วมมือในด้านกฎหมาย ระบบศาล และกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีสนธิสัญญาฯดังกล่าว อาจนับได้ว่าเป็นช่องว่างความสัมพันธ์อันดี ที่หวังได้รับการปรับปรุง ซึ่งพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยมีการศึกษามีความผลักดัน แต่สนธิสัญญาฯดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งการส่งตัวนักโทษให้กัน จงต้องใช้ความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งความเห็นส่วนตัวเห็นด้วย และโชคดีที่คณะทูตของฝรั่งเศส มีผู้พิพากษาที่เชี่ยวชาญและเคยผลักดันการจัดทำสนธิสัญญามาแล้วหลายประเทศ จึงคาดหวังว่า จะมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในเร็วๆ นี้
คณะเอกอัรราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ยังได้กล่าวแสดงความยินดีกับการบังคับใช้ "พ.ร.บ.อุ้มหาย" เป็นเวลา 2 ปี กระทั่งมีการให้สัตยาบันกับองค์การสหประชาชาติในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ถือเป็นความก้าวหน้าทั้งในระดับชาติบนเวทีโลก นำไปสู่หลักนิติรัฐที่เพิ่มขึ้น พร้อมระบุอีกว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการพิจารณาของศาลในคดีการเมืองที่สำคัญ ซึ่งในคำพิพากษา จะไม่สวนทางกับความก้าวหน้าของหลักนิติรัฐ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความร่วมมือเพิ่มเติม ในประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งในประเทศไทยในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม ที่มีลักษณะพิเศษ "ร่างเดียว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นส่วนใดของโลก พวกเขาจะติดตามอย่างใกล้ชิด" ซึ่งในฝรั่งเศส เป็นประเทศหนึ่งที่น่าศึกษา จึงขอแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น และความร่วมมือต่างๆ ในโอกาสนี้ด้วย