องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 โครงการ ในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เวลา 10.40 น.วันนี้ ( 24 ตุลาคม 2567 ) พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงาน กปร. และคณะอนุกรรมการฯ โครงการทำนบดินคลองบางพ่อตาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีพร้อมด้วย นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ และบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการน้ำของโครงการฯ จากนั้น องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการสนองพระราชดำริ ก่อนจะพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ และตรวจเยี่ยมสภาพพื้นที่โครงการ
โครงการทำนบดินคลองบางพ่อตาอันเนื่องมาจากพระราชดำริพร้อมระบบส่งน้ำ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 6 บ้านบางปรุ ตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง โดยในปี 2552 กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างทำนบดิน ขนาดกว้าง 6 เมตร สูง 6 เมตร ยาว 110 เมตร ความจุ 30,000 ลูกบาศก์เมตร และบ่อพักน้ำขนาดความจุ 70 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 แห่ง พร้อมระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 2 สาย และอาคารประกอบ จำนวน 23 แห่ง และได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในชื่อกลุ่ม “เขาศกป่าเขียวน้ำใสด้วยน้ำพระทัยในหลวง” ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 139 ครัวเรือน โดยโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553 สามารถส่งน้ำให้ราษฎรในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลคลองศก จำนวน 193 ครัวเรือน 965 คน มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จำนวน 772 ไร่ นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการไหลของน้ำลงสู่ทะเล ส่งผลให้เกิดความชุ่มชื้นแก่พื้นดินและป่าไม้ถือเป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างมีเป้าหมาย รวมทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กิจกรรมฝายบ้านตาวรรณ์) ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการน้ำของโครงการ พร้อมทั้งพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จากนั้นลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพพื้นที่โครงการและร่วมปล่อยพันธุ์ปลา
สำหรับโครงการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2534 ตามที่นายลำดวน คงเดิม ประธานสภาตำบล ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณคลองสีสุก หมู่ที่ 7 ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยเหลือราษฎร ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการออกแบบ และคาดว่าจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2568 ต่อไป
ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำให้แก่ราษฎร คณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้พิจารณาให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบ้านตาวรรณ์ ฝายบ้านแสนสุข และฝายถ้ำน้ำลอด โดยในปี 2566 กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างฝายบ้านตาวรรณ์ ซึ่งเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาวสันฝาย 20 เมตร สูง 3 เมตร พร้อมขุดสระเก็บน้ำบริเวณหน้าฝาย และทำรางระบายน้ำดาดคอนกรีต ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 360 ครัวเรือน สนับสนุนพื้นที่การเกษตร ประมาณ 670 ไร่ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย สำหรับกิจกรรมฝายบ้านแสนสุข และฝายถ้ำน้ำลอด กรมชลประทานได้ทำการสำรวจ ออกแบบ จัดทำประชาคมการมีส่วนร่วมแล้วเสร็จ และได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วในปี 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 38 โครงการ แยกเป็นด้านการพัฒนาแหล่งน้ำถึง 26 โครงการ ด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา ด้านส่งเสริมอาชีพ ด้านคมนาคม/สื่อสาร ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านบูรณาการ/อื่น ๆ