ศอ.บต. เดินหน้าประชุมขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2568 ตั้งเป้าลดเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน





ศอ.บต. เดินหน้าประชุมขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2568 ตั้งเป้าลดเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2567) พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนงานภายใต้แผนบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2568 (ด้านการพัฒนา) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์  กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่วัดได้ และเป้าหมายของตัวชี้วัดในแต่ละแผนงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2567 มีความสำเร็จในแผนการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนจำนวน 17,510 ครัวเรือน เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 14,500 ครัวเรือน ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วน
ในส่วนของแนวทางสำคัญ 7 ประการของการประชุม ประกอบด้วย ประการที่ 1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทุกหน่วยงานภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน/กิจกรรมโครงการที่ยึดโยงกับผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ และเป้าหมายตัวชี้วัดของแต่ละแผนงานเป็นหลัก เพื่อให้การขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ได้ผลทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวอย่างเช่น ในห้วงที่ผ่านมา แผนงานโครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ได้มีการกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในปี 2566 เรามีเป้าหมายดำเนินการ 1,000 ครัวเรือน โดย ศอ.บต. รับผิดชอบขับเคลื่อน700 ครัวเรือน และหน่วยงานภายใต้แผนบูรณการฯ รับผิดชอบขับเคลื่อนอีก 300 ครัวเรือน ผลการดำเนินการประจำปี 2566 เราสามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมาย โดยสามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น 1,070 ครัวเรือน ในขณะที่เป้าหมายในการดำเนินงานเรื่องครัวเรือนยากจน เราจะกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 1,000 ครัวเรือนเช่นเดิม แต่เมื่อมีการปรับเป้าหมายการดำเนินงาน ในระหว่างปีงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2567 – 2570 ซึ่ง กพต. ให้ความเห็นชอบไว้แล้วนั้น ซึ่ง ปี 2567 มีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 14,500 ครัวเรือน แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทำให้ในปี 2567 เราสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ถึง 17,510 ครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีแทนพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสัญญาณสำคัญว่า เป้าหมายตลอดแผนงานแก้ไขปัญหาความยากจนที่กำหนดไว้จนถึงปี 2570 น่าจะบรรลุผลได้ก่อนห้วงเวลาที่กำหนดไว้ เป็นต้น
ประการที่ 2 การดำเนินงานของ มิติงานด้านการพัฒนาภายใต้แผนงานบูรณาการฯ ในปี 2568 ยังคงมีตัวชี้วัดต่อเนื่อง ที่ยังคงต้องดำเนินการเพื่อให้ บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ประการแรก ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการด้านการอำนวยความยุติธรรมที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษย์ชนและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างทั่วถึง ประการที่สอง ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างชัดเจนและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนจำนวนครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเน้นให้ครัวเรือนยากจนเหล่านั้นจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ประการที่สาม ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเข้มแข็งเติบโตเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่กลางในการใช้ชีวิตร่วมกันของประชาชนที่มีความหลากหลายในพื้นที่ ประการที่สี่ ภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศให้การสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น
ประการที่ 3 การขับเคลื่อนภารกิจงานต่างๆ จะต้องมีความเชื่อมโยงบูรณาการกันระหว่างแผนงานที่หน่วยงานจะต้องดำเนินการตามภารกิจ หรือตามฟังก์ชั่นงาน กับแผนงานบูรณการฯ ที่จะมีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะต้องมีการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน โดยภารกิจตามหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินการเป็นหลัก และเพิ่มเติมในกิจกรรมโครงการภายใต้แผนบูรณาฯ ลงไปในเป้าหมาย พื้นที่ หรือประเด็นที่เป็นการเฉพาะและสำคัญ เพิ่มเติมลงไป ซึ่งหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการอยู่แล้ว
ประการที่ 4 การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง/กรม ในแต่ละแผนงาน โดยมีเจ้าภาพหลักแต่ละแผนงานรับผิดชอบกำกับทิศทางการดำเนินงานของแต่ละแผนให้บรรลุเป้าหมาย โดยจะต้องบูรณาการและการเชื่อมต่อและหนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานระหว่างกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงการขับเคลื่อนงานและสนับสนุนการดำเนินงานของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด
ประการที่ 5 การให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานกับพื้นที่เป้าหมาย และกลุ่มเป้าหมาย ที่ได้รับการกลั่นกรองมาจาก กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ส่วนหน้า เช่น การเลือกชุมชน/หมู่บ้านพื้นที่เป้าหมาย 3 สี มาขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์
ประการที่ 6 อีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานในพื้นได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กพต.” เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปัจจุบันมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ 17 กระทรวง มีหน่วยงานอื่นๆ และผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นกรรมการ โดย กพต. มีอำนาจหน้าที่สำคัญ อาทิ ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนงาน โครงการ และการจัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสนอแนะหน่วยงานรัฐให้จัดทำแผนพัฒนา แผนงานและโครงการ พร้อมด้วยงบประมาณในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา มีเรื่องพิจารณาและเห็นชอบในหลักการหลัก ๆ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดันและยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin cities) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2. ด้านการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีมติเห็นชอบกรอบการบูรณาการขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน 3. ด้านศาสนาและวัฒนธรรม โดยการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ ความเชื่อ โดยไม่ปิดกั้นไม่เลือกปฏิบัติ สามารถแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์แต่ละศาสนาได้อย่างมีอิสรภาพ  และ 4. ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ โดยการเพิ่มศักยภาพภาครัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผ่านการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ อำเภอ และจังหวัด เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชน
และประการที่ 7 ในขณะนี้ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นเจ้าภาพแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มิติด้านการพัฒนา อยู่ระหว่างการผลักดันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้น ซึ่งจะเป็นศูนย์ข้อมูลกลางที่จะเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญในด้านการพัฒนาจากทุกหน่วยงาน จากทุกฐานข้อมูล เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนงานการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาใช้ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลดังกล่าวได้  เช่น ฐานข้อมูลครัวเรือนยากจน เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องขอความอนุเคราะห์และความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการร่วมกันขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จต่อไป 
ทั้งนี้ พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์  กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นแนวทางสำคัญในการร่วมมือแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน





 
 
เว็บสำเร็จรูป
×