รมว.ทวี เปิดพิธีเฟ้นหา 3 นวัตกรรมพัฒนางานราชทัณฑ์ ปี 67







รมว.ทวี เปิดพิธีเฟ้นหา 3 นวัตกรรมพัฒนางานราชทัณฑ์ ปี 67
"ทวี สอดส่อง" เปิดพิธีคัดเลือก 3 นวัตกรรม  "เทคโนโลยี - การศึกษา - สิ่งประดิษฐ์ต้านทุจริต"  โครงการราชทัณฑ์ยุคใหม่ ที่จะมอบโอกาส ความเท่าเทียม โชว์ศักยภาพคนหลังกำแพง  เสริมประสิทธิภาพคืนคนดีสู่สังคม 
วันที่ 2 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  เป็นประธานในพิธีการประกวด พิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมการพัฒนางานราชทัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  โดยมีนางจิรภา สิทธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางณัฐศมน วงษ์กิตติพัฒน์  ผู้อำนวยการใหญ่การตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และภาคีเครือข่ายร่วมให้การต้อนรับ ณ ลานกิจกรรม ชั้น 6 เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สาขางามวงศ์วาน
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงานว่า กรมราชทัณฑ์ องค์กรที่แสดงบทบาทมานับร้อยปี สู่โลกที่มาพร้อมกับ "การพัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ สร้างชาติด้วยเทคโนโลยี ก้าวสู่วิถีนวัตกรรม" ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสังคม  ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้โอกาสการได้รับการปฏิบัตอย่างเท่าเทียมด้วยผลงานนวัตกรรม 3 ด้าน ทั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์, นวัตกรรมการศึกษา, และนวัตกรรมต่อต้านทุจริต ที่ล้วนมีคุณค่าเติมเต็มอาชีพ 4 สาขาให้กับประเทศชาติ  ทั้งการเกษตร งานช่าง การค้า และสุดท้าย หนีไม่พ้น "การศึกษา" ที่จะไปสร้างคนให้มีความรู้ ซึ่งทุกอาชีพจะไม่เกิดขึ้นได้หากขาดการศึกษา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งจะมีโครงการลักษณะเช่นนี้ต่อเนื่องในปีถัดไป 
"ยุคนี้ เรือนจำมีไว้เพื่อออก ไม่ใช่มีไว้เพื่อเข้า ซึ่งเป็นหลักปรัชญาที่ต้องทำให้มีการกระทำซ้ำผิดน้อยที่สุด ก็คือเขาต้องออกมาเป็นคนดี ต้องมีอาชีพ มีงานทำ ผมถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญเป็นประธานโครงการนวัตกรรมการพัฒนางานราชทัณฑ์ในปีนี้และปีต่อๆไป  "
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกวดพิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมการพัฒนางานราชทัณฑ์ ในปีนี้ มีเจ้าหน้าที่จากเรือนจำ ทัณฑสถานทั่วประเทศให้ความสนใจ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จำนวน 53 นวัตกรรม มีผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ ประเภทละ 3 นวัตกรรม รวมจำนวนทั้งสิ้น 9 นวัตกรรม ดังนี้
1. นวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ ได้แก่เรือนจำกลางคลองเปรม: ระบบกล้องตรวจจับอัจฉริยะ(prison smart camera), ทัณฑสถานหญิงกลาง: ระบบจัดการแผนการปฏิบัติผู้ต้องขังรายบุคคล(sentence plan) และเรือนจำจังหวัดภูเก็ต: platform web application site smile
2.นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ เรือนจำกลางชลบุรี:เว็บไซต์การบริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์(e -library) ผ่านระบบเครือข่ายภายในเรือนจำ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่: sharing room(ศูนย์การเรียนรู้ฯ เสมือนจริง) ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก: โครงการน้ำครึ่งแก้วกับเสียงเสริมเติมปัญญาพัฒนาสู่เรือนนอน
3.นวัตกรรมต้านการทุจริต ได้แก่กองบริหารทรัพยากรบุคคล: ระบบดำเนินการด้านวินัยข้าราชการกรมราชทัณฑ์ กลุ่มงานจริยธรรมกรมราชทัณฑ์ : DOC one stop เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี: ศูนย์ราชการสะดวกเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี บริการประทับใจโปร่งใส ไร้ทุจริต




ทั้งนี้ การประกวด แบ่งเป็น 2 รอบ คือ 1.รอบคัดเลือก(semi final) ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผานมา ซึ่งการประกาศมีผลงานนวัตกรรม เข้ารอบชิงชนะเลิศ (Final) ประเภทละ 3 นวัตกรรม รวมทั้งสิ้น 9 นวัตกรรม โดยผู้เข้าร่วมแต่ละรอบได้เข้ามาชิงชนะเลิศอันดับที่ 1 อันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกมาร่วมพิจารณาตัดสิน ได้แก่ รศ.ดร.สุนีย์ กัญยะจิต ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชีววิทยาและงานยุติธรรม หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล,  รศ.พ.ต.ท.ดร. เกษมศานต์ โชตชาครพันธุ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารและการพัฒนา หลักสูตรนานาชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA) และ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(DEPA)
#ชูประเด็นข่าวภาคใต้
southhotnews.com








 
 
เว็บสำเร็จรูป
×