ราชมงคลศรีวิชัยขนอม ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น แห่ผ้าขึ้นธาตุเจดีย์ปะการัง วัดจันทน์ธาตุทาราม ส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานของท้องถิ่น









ราชมงคลศรีวิชัยขนอม ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น แห่ผ้าขึ้นธาตุเจดีย์ปะการัง วัดจันทน์ธาตุทาราม ส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานของท้องถิ่น
วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญหทัย ใจเปี่ยม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วย อาจารย์ทวีศักดิ์ ศรีภูงา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา เข้าร่วม กิจกรรมวันวิสาขบูชา “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” เจดีย์ปะการัง ทอดผ้าป่าสามัคคี เนื่องในวันวิสาขบูชา (วันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา) ประจำปี 2567 ณ วัดจันทน์ธาตุทาราม (เขาธาตุ) ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
.
สำหรับ กิจกรรมวันวิสาขบูชา “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” เจดีย์ปะการัง ทอดผ้าป่าสามัคคี เนื่องในวันวิสาขบูชา จัดขึ้นภายใต้ความร่วมของ พระครูปลัดสิวริศร์ สุทฺธิมโน เจ้าอาวาส วัดจันทน์ธาตุทาราม ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลท้องเนียน, บริษัท ผลิตฟ้าขนอม จำกัด, โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม, กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนอม, วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พื้นที่ขนอม และเทศบาลตำบลท้องเนียน จัดกิจกรรมวันวิสาขบูชา “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” เจดีย์ปะการัง ทอดผ้าป่าสามัคคี เนื่องในวันวิสาขบูชา (วันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา) ประจำปี 2567 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิด ห่มผ้าเจดีย์ปะการัง  และ นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานผ้าป่าสามัคคีและถวาย “ผ้าพระบฎ” และ นายฐิติวัชร บุญกิจ นายอำเภอขนอม เป็นรองประธานผ้าป่าสามัคคีและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมต่อประธาน บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคักทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักท่องเที่ยว เข้าร่วมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ กว่า 1,000 คน
นายทวีศักดิ์ ศรีภูงา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ กล่าวว่า ในส่วนของวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ นั้น ได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนของการจัดขบวนแห่ในทุกๆปี และจะมีเหล่าอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาเข้าร่วม สำหรับแห่ผ้าขึ้นธาตุ เจดีย์ปะการัง เป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอขนอม จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ของทุกปี และจะมีหน่วยเสริมทั้ง คณะคุณครู อาจารย์ ตัวแทนนักศึกษา ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน พี่น้องประชาชนในอำเภอขนอม ร่วมเดินขบวนแห่เครื่องสักการะด้วยชุดสวยงาม และรูปแบบขบวนที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยขบวนเหล่านางรำ ขบวนกลองยาว และขบวนผ้าพระบฏ โดยจะแห่ตั้งแต่บริเวณโบสถ์ วัดจันทน์ธาตุทาราม ไปยัง เจดีย์ปะรัง ด้วยระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ที่มีลักษณะเป็นเนินเขา ปัจจุบันไม่เพียงแต่ชาวอำเภอขนอม หรือเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศที่มีความศรัทธาต่อเจดีย์ปะการัง ได้เดินทางเข้าร่วมแห่ผ้าพระบฎในโอกาสวิสาขบูชา ที่ถือกันว่าเป็นโอกาสอันเป็นมงคลและมหากุศลยิ่ง





ด้าน นายฐิติวัชร บุญกิจ นายอำเภอขนอมในนามคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวขนอม เป็นประเพณีที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนของชาวขนอมและพื้นที่ใกล้เคียง ประเพณีนี้สืบเนื่องมาจากการยึดเอาพระบรมธาตุเจดีย์ อันเป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งทางใจ นับเป็นประเพณีที่รวมเอาความศรัทธาและความบริสุทธิ์ใจเข้าด้วยด้วยกัน อีกทั้ง เป็นการสืบสานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ส่งเสริมให้ประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กเยาวชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น อันดีงามของไทยอยู่ต่อไป เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของหน่วยงาน ประชาชนในท้องถิ่น และสำคัญที่สุดเป็นการเผยแพร่และส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวประเพณีทางศาสนาและโบราณสถานของท้องถิ่น
ทั้งนี้ ในส่วนประวัติเจดีย์ปะการัง จากการศึกษาข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ทราบว่าได้รับการบูรณปฏิสังขร เมื่อปีพ.ศ. 2554 โดย เป็นโบราณสถานเก่าแก่ของเมืองขนอม เชื่อกันว่ามีอายุมากกว่า 1000 ปี ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาธาตุ ในวัดจันทน์ธาตุทาราม เจดีย์เป็นรูปโอคว่ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เมตร สร้างขึ้นโดยนำหินปะการัง มาจัดสร้างเป็นเจดีย์ทั้งองค์ รอบๆเจดีย์ มีพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินทรายแดง แสดงให้เห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งอารยธรรมทางด้านพุทธศาสนาสมัยหนึ่ง จากบนยอดเขาธาตุนี้ สามารถชมทิวทัศน์ของอ่าวท้องเนียนได้ ตามตำนาน กล่าวว่า ผู้มีจิตศรัทธาจากเมืองไชยา ได้รวบรวมทรัพย์สินเงินทอง และของมีค่าต่าง ๆ เพื่อไปบรรจุที่พระบรมธาตุเมืองนคร แต่ไม่ทัน เพราะพระบรมธาตุได้สร้างเสร็จเสียก่อน ผู้มีจิตศรัทธาดังกล่าว จึงได้ร่วมใจกันสร้างเจดีย์ขึ้นบนเขาธาตุ ซึ่งเป็นจุดที่พักก่อนจะไปเมืองนครศรีธรรมราช เจดีย์ปะการัง อ.ขนอม ดูจากวัสดุที่นำมาก่อสร้าง ตำแหน่งที่ตั้งของเจดีย์ บอกให้รู้ถึงความพยายาม และศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อพระพุทธศาสนา ของผู้คนยุคนั้นเมื่อพันกว่าปี อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ได้มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนจาก ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ที่มีจิตศรัทธาในองค์พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราชได้นำแก้วแหวนเงินทอง และของมีค่าต่าง ๆ เพื่อไปบรรจุในองค์พระบรมธาตุนคร แต่ในระหว่างการเดินทาง เรือได้อับปาง บางส่วนรอดชีวิต และถูกคลื่นซัดมาเกยฝั่งที่นี่ เลยได้ร่วมกันสร้างเจดีย์จากหินปะการัง เพื่อบรรจุของมีค่าที่ยังเหลืออยู่ แทนการนำไปบรรจุที่พระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช







 
 
เว็บสำเร็จรูป
×